
ความสำคัญ คุณค่า และประโยชน์ของ การละเล่นพื้นบ้านไทย
การละเล่นพื้นบ้าน เป็นการเล่นที่สืบทอดกันมาแต่โบราณโดยเฉพาะเด็ก ๆ จะนิยมเล่นกันมาก เด็กสมัยก่อนจะเรียนรู้การละเล่นโดยไม่มีการเรียนการสอน การละเล่นพื้นบ้านไม่ว่าของภาคใดล้วนเป็นประโยชน์ เพราะการละเล่นทำให้เด็กได้เคลื่อนไหว ได้ออกกำลังกาย เกิดความคล่องแคล่วว่องไว ฝึกความอดทน ฝึกการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี ฝึกการสังเกต มีปฏิภาณไหวพริบ สร้างความสามัคคีในหมู่คณะ พร้อมทั้งเกิดความสนุกสนาน การละเล่นจึงถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของเด็ก ในปัจจุบันโรงเรียนควรที่จะนำเอาการละเล่นพื้นบ้านมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อเป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเชื่อมโยงสู่การเรียนรู้ โดยเฉพาะการละเล่นพื้นบ้านการละเล่นพื้นบ้านควรให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้และอนุรักษ์ไว้ซึ่งการละเล่นพื้นบ้านเป็นกิจกรรมรู้จักความยุติธรรม รู้จักการให้การรับและช่วยพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ให้เจริญเติบโต ผ่อนคลายความตึงเครียด
ผอบ โปษะกฤษณะ. (๒๕๒๒). ได้สรุปคุณค่าของการละเล่นพื้นบ้านของเด็กไทยซึ่งแบ่งเป็น คุณค่าทางวัฒนธรรม ด้านสังคม และด้านภาษา ดังนี้
ด้านวัฒนธรรม
การละเล่นของเด็กไทย มีลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงามของเด็กปรากฏอย่างชัดเจน คือ
1. เสริมสร้างพลานามัยให้สมบูรณ์
2. เสริมสร้างทักษะต่าง ๆ ให้เจริญ เช่น ทักษะในการใช้สายตาสังเกต ทักษะในการเคลื่อนไหวอวัยวะ
3. ส่งเสริมความเจริญทางสติปัญญา เช่น ฝึกให้ใช้ความคิด ฝึกให้มีไหวพริบ ฝึกการคาดคะเนด้านสังคม
3.1 การละเล่นของเด็กไทยสะท้อนภาพของสังคมไทยในด้านต่าง ๆ เช่น สภาพความเป็นอยู่ อาชีพ เป็นต้น
3.2 การละเล่นช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพและทางจิตใจ ฝึกให้เป็นผู้ที่มีระบบระเบียบวินัย และความรับผิดชอบ มีความสามัคคีในหมู่คณะ เมื่อเติบโตขึ้นเด็ก ๆ เหล่านี้ก็จะมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นกำลังของชาติอันเป็นคุณค่าทางสังคมอันพึงปรารถนา
ด้านภาษา
บทร้องประกอบการร้องของเด็ก มีคุณค่าทางภาษาทั้งในแง่วรรณศิลป์และในแง่การสื่อสาร ในแง่วรรณศิลป์นั้น บทร้องมีรูปแบบไม่จำกัดตายตัว มีการใช้คำเป็นวรรคสั้น ๆ และมีเสียงสัมผัสคล้องจอง ทำให้เกิดความไพเราะทำนองที่ใช้ร้องเป็นทำนองง่าย ๆ มีจังหวะเข้ากับวิธีเล่น มีการใช้คำเลียนเสียงต่าง ๆ และมีการใช้สัญลักษณ์ในเนื้อร้อง แฝงความหมายที่น่าสนใจ ในแง่ของการสื่อสารนับว่าบทร้องประกอบการละเล่น ได้มีส่วนช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาโดยไม่รู้ตัว เพราะมีทั้งคำคล้องจอง คำถาม คำตอบ และคำพูดที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ช่วยให้เด็กได้รับความสนุกสนานในการใช้ภาษาสื่อสารไปด้วย ช่วยพัฒนาการทางด้านความคิดและการสังเกตได้เป็นอย่างดี
สาร สาระทัศนานันท์. (๒๕๒๙). ได้กล่าวถึง ความสำคัญของการละเล่นพื้นบ้านไว้ว่า ธรรมชาติของมนุษย์ เกิดมาย่อมมีการเคลื่อนไหว จะอยู่นิ่งไม่ได้ยิ่งเป็นเด็กแล้วต้องมีการเคลื่อนไหวบ่อย ๆ ทั้งนี้เพื่อบริหารร่างกายให้เจริญเติบโต การเคลื่อนไหวหรือการออกกำลังกายนับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งของมนุษย์ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ตลอดจนผู้สูงอายุ และมนุษย์ผู้มีนิสัยชอบสังคม คือ ชอบรวมกันอยู่เป็นกลุ่ม
หรรษา นิลวิเชียร. (๒๕๓๕). ได้กล่าวว่า การเล่นเป็นส่วนสำคัญของชีวิตเด็ก และมีคุณค่าต่อการพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา การเล่นทำให้เด็กเรียนรู้ การรู้จักดัดแปลง คืดยืดหยุ่น การนำเชือกมาผูกแทนชิงชา ปีนเล่นบนก้อนหินแทนการปีนเล่นบนเครื่องเล่นในโรงยิม ใช้ม้าก้านกล้วยสมมุติเป็นม้า การเล่นจะช่วยให้เด็กฝึกจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์เด็กจะสร้างภาพพจน์ และเรื่องราวต่าง ๆ แม้แต่เรื่องในใจของตนเอง เด็กจะฝึกเลียนเสียงธรรมชาติ เสียงสัตว์ เด็กจะศึกษาหาวิชาใหม่ ๆ จากการเล่นวัสดุ สิ่งของ จะเห็นได้ว่าการเล่นมีความสำคัญมากต่อชีวิตในวัยเด็ก การเล่นชนิดต่าง ๆ จะส่งผลให้เด็กมีความเจริญงอกงามและพัฒนาการครบทุกด้าน
ทิพวรรณ คันธา. (๒๕๔๐). ได้กล่าวถึง คุณค่าของการละเล่นพื้นบ้าน ว่าเป็นการเล่นที่สามารถส่งเสริมกล่าวเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เป็นอย่างดี เพราะผู้เล่นได้เคลื่อนไหว ได้ออกกำลังกาย รู้จักเคารพกติกาในการเล่น รู้จักการรอคอย มีความอดทน รู้แพ้รู้ชนะและให้อภัย ช่วยเสริมสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ ตลอดจนผู้เล่นได้รับความสนุกสนาน อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านให้คงอยู่

กรมวิชาการ. (๒๕๔๐). กล่าวว่า การเล่นถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญในชีวิตเด็กทุกคน เด็กจะรู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลิน ได้สังเกต มีโอกาสทำการทดลองสร้างสรรค์ความคิดแก้ปัญหา และค้นพบด้วยตนเอง การเล่นช่วยพัฒนาร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ จิตใจ และสังคม เป็นทางที่เด็กจะสร้างประสบการณ์เรียนรู้สิ่งแวดล้อมกับธรรมชาติรอบตัว "การเล่น" เป็นหัวใจสำคัญของการจัดประสบการณ์ให้กับเด็ก
สุชา จันทร์เอม. (๒๕๔๑). ได้กล่าวว่า การเล่นของเด็กเน้นการฝึกมารยาทของเด็กได้ดียิ่ง เด็กจะรู้จักคิด รู้จักกระทำที่ถูกจากการเล่น รู้จักความยุติธรรม รู้จักการรับการให้ และช่วยพัฒนาให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ให้เจริญเติบโต ผ่อนคลายความตึงเครียด ในชีวิตประจำวันของเด็ก
สำนักงานคณะกรรมการ การประถมศึกษาแห่งชาติ. (๒๕๓๓). ได้ให้ความสำคัญของการละเล่น ไว้ว่าการละเล่นมีความสำคัญต่อการพัฒนาและการเรียนรู้ของเด็ก
พัชรี สวนแก้ว. (๒๕๓๖). ได้กล่าวว่า การเล่นเป็นกิจกรรมที่สำคัญมากต่อเด็ก เพราะนอกจากจะเป็นธรรมชาติของเด็กแล้ว การเล่นยังเป็นสิ่งที่นำไปสู่การเรียนรู้จักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้แก่เด็ก นอกจากนี้การเล่นยังช่วยให้เด็กได้พัฒนาไปสู่วิถีทางการดำเนินชีวิตเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ประสบการณ์ที่เด็กได้จากการเล่นจะนำไปสู่การรับผิดชอบต่อตนเอง ช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
สรวงธร นาวาผล. (๒๕๔๒). กล่าวว่า การเล่นสำหรับเด็กมีผลต่อการกระตุ้นการเรียนรู้พัฒนาการของสมอง เสริมสร้างความฉลาด พัฒนาสติปัญญา พัฒนาอารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์การสื่อสาร การเล่นช่วยเสริมสร้างลักษณะนิสัยของเด็กได้เรียนทักษะต่าง ๆ จากการเล่น เด็กได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากการเล่น
กุลยา ตันติผลาชีวะ. (๒๕๔๒). ได้กล่าวไว้ว่า การเล่นซึ่งมีความสำคัญกับเด็กมาก ไม่เพียงแต่สร้างความสนุกเพลิดเพลินให้กับเด็กเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก การเล่นจะเป็นการเรียนรู้ของเด็กมากขึ้น ถ้าครูจัดเตรียมการเล่นอย่างมีจุดประสงค์ และพร้อมที่จะให้การเล่นเป็นการเรียนรู้ที่สนุก การเล่นของเด็ก การเล่นเป็นกิจกรรมที่สำคัญในชีวิตเด็กทุกคน เด็กจะรู้สึกสนุกสนาน เพลิดเพลิน ได้สังเกต ได้มีโอกาสทดลอง สร้างสรรค์ความคิดแก้ปัญหาและค้นพบด้วยตนเอง การเล่นมีอิทธิพลและมีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ช่วยพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญา
จะเห็นได้ว่า การละเล่นพื้นบ้านไทยมีคุณค่า มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติ เพื่อที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพในอนาคต การละเล่นพื้นบ้านไทยนี้เป็นสิ่งที่บอกถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย การปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนได้เล่นการละเล่นพื้นบ้านไทย ยังเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของไทยให้สืบไปด้วย
อ้างอิงจาก : กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ศึกษาการละเล่นพื้นบ้านต่าง ๆ ได้ที่ : บทความทั่วไป